ผมเชื่อว่า ช่วงนี้ หลายคนที่เป็นคนทำงานตื่นเช้าๆ คงจะคุ้นหูกับคำว่า “วาฬบรูด้า” เป็นอย่างดี สืบเนื่องมาจาก ช่วงเดือนนี้ (เดือน ต.ค. 2556) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้นำเสนอข่าวเรื่อง “วาฬบรูด้า” ในอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง (สามารถชมย้อนหลังได้ที่นี่ครับ http://goo.gl/lN1vdz ) และนำมาซึ่งการตื่นตัวที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของผู้คนที่มีความต้องการจะออกมาดูเจ้ายักษ์ใหญ่แห่งอ่าวไทย หากมองในแง่ดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น แต่ก็อดตงิดๆในใจไม่ได้ว่า พอเจ้าผองเพื่อนวาฬบรูด้าได้กลายเป็นเซเลบแห่งอ่าวไทยตัว ก. ไปแล้ว ผลที่ตามมามันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง
ในความจริงแล้ว วาฬบรูด้าเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งจะโผล่มาให้เห็นกันเฉพาะช่วงนี้หรอกครับ เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ที่อ่าวไทยของเรากันมานมนานแล้วกว่าร้อยปี จากการสำรวจอย่างจริงจังพบประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทยกว่า 35 ตัว และตราบใดที่ทะเลไทยของเรายังคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศเช่นนี้ วาฬบรูด้าก็จะยังคงอาศัยอยู่ที่นี่ไปอีกนานครับ ดังนั้นแล้วกิจกรรมการดูวาฬสามารถทำได้หลายช่วงครับ ไม่มีความจำเป็นอันใดที่ต้องรีบร้อนกันออกมาดูกันทีเดียว เพราะไม่เหมือนกับบั้งไฟพญานาคที่หนึ่งปีจะมีสักครั้งครับ
เมื่อข่าวถูกนำเสนอ ย่อมทำให้เกิดการตื่นตัว เมื่อมีการตื่นตัวมีการบอกต่อ ทำให้มีความต้องการอย่างมากที่จะได้มีโอกาสออกมาดูวาฬสักครั้ง ซึ่งถ้าสามารถทำได้อย่างถูกวิธี ก็จะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายครับ คนที่มีความต้องการออกมาดูวาฬก็สามารถได้รับชมอย่างถูกวิธี ได้รับความรู้และเข้าใจชีวิตการเป็นอยู่ของพวกเขา ส่วนเจ้าของเรือที่ปฏิบัติอย่างถูกวิธีก็จะมีอาชีพที่สามารถหารายได้จากการดูวาฬเชิงพาณิชย์ และสำคัญที่สุดคือวาฬ จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ถือเป็นการรบกวนพวกเขาเลยครับ
แล้วการดูวาฬแบบผิดวิธีล่ะ เป็นยังไง? โดยหลักๆแล้วที่พบกันอยู่ตอนนี้คือ การใช้เจ็ทสกี และ เรือนำทริปดูวาฬที่ไม่เข้าใจหลักปฏิบัติสากลในการดูวาฬครับ ขอเริ่มกันที่เจ็ทสกีก่อนว่าทำไมถึงก่อให้เกิดปัญหานะครับ ซึ่งผมขออนุญาตนำส่วนหนึ่งของบทความ “เข้าใจภาพ เข้าใจวาฬ เข้าใจเรา” ของพี่ทัวร์ จิรายุ เอกกุล ที่อธิบายให้เข้าใจง่ายๆถึงความไม่สมควรของการใช้เจ็ทสกีในการดูวาฬมาให้อ่านดังนี้ครับ
“ โดยธรรมชาติแล้วนั้นวาฬและโลมามีหู หรือประสาทรับรู้ในการได้ยินที่ดีกว่าเราถึงเกือบ ๆ 5 เท่า หรือบางสายพันธุ์อาจจะดีกว่านั้น (มนุษย์เราอยู่ที่ 20Hz-20kHz แต่วาฬและโลมาจะมี range ของการได้ยินประมาณ 20Hz – 120kHz) ยังไม่รวมสื่อกลางของน้ำ ซึ่งเสียงเดินทางในน้ำได้เร็วกว่าอากาศถึง 4.3 เท่าตัว… เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุที่อธิบายได้ดีว่าทำไมเรือยนต์ประเภทเจ็ทสกี ถึงมีผลในด้านลบอย่างมากกับการรบกวนวาฬเหล่านี้ เวลาวาฬขึ้นมาโผล่ฮุบเหยื่อ ทำไมเราไม่ควรตะโกน กรี๊ดกร๊าด หรือโวยวายส่งเสียงดังเกินความจำเป็น ตรงนี้มีคำตอบอยู่ในตัว เพราะเดือนที่แล้วผมก็เคยเจอ มีครอบครัวพาเด็ก ๆ ไปเรืออีกลำหนึ่งที่ออกพร้อมไปกับผมและใช้นกหวีดเป่า ส่งเสียงดังระงมด้วยความที่ไม่รู้ของเด็ก ๆ และจำนวนเรือก็มีผลสำคัญในการทำให้วาฬเครียด เครื่องเรือจะส่งเสียงผ่านลงไปในน้ำโดยตรง หากลองกลับไปสังเกตภาพแรกที่เรือของพี่จำรูญจะเห็นว่า มีท่อไอเสียอยู่ด้านบนที่ดาดฟ้าท้ายเรือ ตรงนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เรือลดความดังใต้น้ำลดลง ทำให้วาฬเข้าใกล้เรือได้มากขึ้นและลดเสียงที่รบกวนวาฬไปด้วยในตัว กลับมาที่เจ็ทสกี หลักการทำงานของเครื่องยนต์เจ็ทสกีนั้น คือการดูดน้ำผ่านใบพัดในตัวเรือแล้วรีดน้ำออกไปเหมือนเครื่องยนต์เจ็ท ทั้งหมดอยู่ใต้หรือด้านล่างของลำเรือ… เพราะฉะนั้นเสียงที่ถูกสร้างขึ้นโดยเครื่องยนต์จะถูกส่งลงน้ำแบบเต็ม ๆ นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักว่าทำไม เรือยนต์ประเภทเจ็ทสกีจึงไม่เหมาะในการใช้ดูวาฬ ”
(อ่านบทความ “เข้าใจภาพ เข้าใจวาฬ เข้าใจเรา” แบบเต็มๆได้ที่นี่ครับ http://goo.gl/JDyswV )
(ภาพถ่ายกลุ่มเจ็ทสกีโดย พี่ทัวร์ จิรายุ เอกกุล)
หลังจากที่ได้อ่านแล้ว เราพอจะเข้าใจได้ว่า หลักๆของปัญหามันก็คือเรื่องของ ”เสียง” นั่นเองครับ ซึ่งจะขอเสริมให้เข้าใจว่า เมื่อมีเสียงที่ดังส่งผ่านไปในน้ำบริเวณที่มีวาฬใช้ชีวิตอยู่แล้วนั้น จะเกิดผลกระทบอะไรกับพวกเขาได้บ้าง ซึ่งโดยปกติแล้ว วาฬและโลมาจะมีระบบที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต เราเรียกว่าระบบ “Echolocation” ซึ่งเป็นการจับระยะและทิศทางโดยการใช้เสียง ใช้ทั้งในการหาอาหาร การว่ายน้ำ หรือการรวมฝูง ซึ่งเสียงที่ดังมากๆของเครื่องยนต์เจ็ทสกีหรือเรือแบบผิดประเภทอื่นๆจะเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบดังกล่าว ก่อให้เกิดเป็นกำแพงเสียง (Sound Wall) ซึ่งจะเหมือนเป็นการบังคับและจำกัดให้วาฬหรือโลมาต้องว่ายหนีออกไปในทิศทางอื่น มากกว่านั้นสามารถก่อให้เกิดความเครียดและอาการตกใจ ที่อาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่อทั้งวาฬและมนุษย์ได้ครับ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นปัญหาที่สะสม นานวันไปพวกเขาก็อาจจะไม่ออกมาใช้ชีวิตให้พวกเราได้ชมกันนะครับ ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครได้รับประโยชน์อะไรเลย และเชื่อว่าทุกๆคนก็คงไม่อยากจะให้เกิดขึ้นนะครับ
นอกเหนือจากนั้น ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรือให้บริการนำทริปดูวาฬที่ไม่เข้าใจหลักปฏิบัติสากลและขาดประสบการณ์ในการดูวาฬครับ ซึ่งปัญหาที่มักพบก็คือ การใช้ความเร็วเรือในการเข้าประชิดวาฬ เพื่อให้ได้เข้าใกล้วาฬมากที่สุดจนเกินขอบเขตที่สมควรจะเป็นครับ ซึ่งระยะที่เหมาะสมในการดูวาฬโดยไม่รบกวนพวกเขามากที่สุดจะอยู่ในระยะ 100-300 เมตรจากตัววาฬ ไม่ควรเข้าใกล้วาฬเกินกว่าระยะ 100 เมตร เว้นเสียแต่ว่าวาฬจะสมัครใจเข้ามาใกล้เองครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการที่วาฬจะสมัครใจเข้าใกล้เรือเองนั้น จะเกิดขึ้นกับเรือที่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องทั้งการใช้ความเร็วต่ำและคงที่ (ไม่เกิน 4 น็อตในรัศมี 100-300 เมตร) และต้องไม่ดับเครื่องยนต์แม้ตอนเรืออยู่กับที่ เพื่อที่วาฬจะได้รู้ตำแหน่งของเรา เพื่อรักษาระยะห่างเช่นกัน ในแง่ของจำนวนเรือ ณ บริเวณจุดดูวาฬก็มีส่วนสำคัญครับ ซึ่งจำนวนที่พอดี ก็ไม่ควรจะเกิน 3 ลำ ในรัศมี 100-300 เมตร และจะต้องมีการผลัดกันเข้าไปดู ไม่ใช่เข้าพร้อมกัน ซึ่งหมายความว่าหากมีเรือในบริเวณนั้นมากกว่า 1 ลำ จะต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัปตันของแต่ละลำในการเข้าดูวาฬนั่นเองครับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ทางมูลนิธิของเราได้ทำเป็น Info Graphic ที่เข้าใจง่ายๆ ไว้ที่ลิงค์นี้แล้วนะครับ http://chomwhales.org/our-trip/do-dont/
เราเชื่ออยู่เสมอครับว่า คนที่ไม่เคยรู้มาก่อนนั้น ย่อมทำอะไรที่ผิดพลาดไปบ้าง เพราะความไม่รู้ แต่เมื่อได้รับรู้แล้วก็ควรปรับเปลี่ยนความคิดและทำความเข้าใจครับ เพื่อให้พวกเขาได้อยู่กับน่านน้ำไทยของเราไปนานๆ ซึ่งการชมวาฬอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่มูลนิธิรักสัตว์ป่าได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของการปฏิบัติด้วยตนเอง, การให้ความรู้กับผู้อื่น, รวมถึงการแนะนำและตักเตือนกับผู้ที่กระทำการดูวาฬอย่างผิดวิธี เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งคนที่มีความต้องการจะชมวาฬ ผู้ประกอบการดูวาฬเชิงพาณิชย์ และเหล่าวาฬเอง ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายครับ
There are no comments so far